วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560

สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore)

 สิงคโปร์ (Singapore)

                สิงคโปร์ (Singapore) ประเทศเล็กกกกๆที่น่าสนใจ เพื่อนบ้านฝาแฝดของเกาะภูเก็ต ที่มีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 697 ตารางกิโลเมตร โดยจะเป็นเกาะใหญ่หนึ่งเกาะ (เกาะสิงคโปร์) และเกาะเล็กๆ อีกมากกว่า 60 เกาะ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู ทางทิศเหนือติดกับช่องแคบยะโฮร์ ทิศใต้ติดกับช่องแคบสิงคโปร์ ทิศตะวันออกติดกับทะเลจีนใต้ และทิศตะวันตกติดกับช่องแคบมะละกา ส่วนอากาศก็มีความใกล้เคียงกันมากเพราะเป็นอากาศร้อนฝนตกชุก แบบเขตร้อนชื้น
 สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพื้นที่จำกัดและมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอยู่น้อย สินค้าส่งออกที่สำคัญจึงเป็นพวกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญก็จะเป็นพวก พลังงาน อาหาร และวัตถุดิบในงานอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา
    เดิมสิงคโปร์เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า เทมาเส็ก (Temasek) หรือ ทูมาสิก (Tumasik) มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง ในศตวรรษที่ 3 ของประวัติศาสตร์จีน มีการกล่าวถึงสิงคโปร์เป็นครั้งแรก ในชื่อของ โปหลัวชาง (Pu-Luo-Chung) ที่หมายถึงปลายสุดของคาบสมุทร
     ในศตวรรษที่ 13 เจ้าชายแสง นิลา อุตามา (Sang Nila Utama) แห่งปาเลมบัง (Palembang) (นครพระราชอาณาจักรศรีวิชัยประเทศอินโดนีเซีย) เดินทางออกมาแสวงหาสถานที่สำหรับสร้างเมืองใหม่ และได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณเกาะเทมาเส็กและเปลี่ยนชื่อเป็น สิงหปุระ (Singapura) หรือ “เมืองสิงโต”  ซึ่งมาจากคำในภาษาสันสกฤต “สิงหะ (simha)” (สิงโต) กับคำว่า “ปุระ (pura)” (เมือง)
           พ.ศ.2054 สิงคโปร์ตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส
           พ.ศ.2434 เซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) ตัวแทนของบริษัทบริติชอินเดียตะวันออก (The British East India Company) เดินทางมาตกลงการค้ากับสุลต่านผู้ปกครองสิงคโปร์ โดยมีการลงนามทำข้อตกลงเพื่อให้สิทธิ์แก่อังกฤษในการก่อตั้งสถานีการค้าที่สิงคโปร์และจัดตั้งเป็นท่าเรือปลอดภาษี สำหรับประเทศแถบเอเชียรวมถึงสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง และต่อมาก็ยึดครองสิงคโปร์ไว้ได้
สิงคโปร์ยุคใหม่ได้รับการก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 19 อันเนื่องมาจากการเมือง การค้า และบุรุษที่รู้จักกันในนาม เซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles)
ในช่วงเวลาดังกล่าว จักรวรรดิอังกฤษกำลังมองหาท่าจอดเรือสินค้าในภูมิภาคนี้เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับกองเรือสินค้าของตน และเพื่อไม่ให้ฝ่ายกองเรือของดัตช์ช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าจากฝ่ายอังกฤษ สิงคโปร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่กำลังรุ่งเรืองในแถบช่องแคบมะละกาอยู่ก่อนแล้ว จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
ราฟเฟิลส์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองผู้ว่าการเมืองเบงคูเลน (ปัจจุบันนี้คือ เบงกูลู) ในเกาะสุมาตรา ได้เดินทางมาขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์ในวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1819 หลังจากที่ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพอันมหาศาลของเกาะที่เต็มไปด้วยที่ลุ่มน้ำและหนองบึงแห่งนี้ จึงได้เข้ามาช่วยเจรจาทำสนธิสัญญากับบรรดาผู้ปกครองท้องถิ่น และก่อตั้งสิงคโปร์เป็นสถานีการค้าขึ้นมา เมืองแห่งนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นศูนย์กลางการค้าโดยเน้นเรื่องการให้บริการคลังสินค้า ทำให้ผู้คนอพยพหลั่งไหลเข้ามาทำงานทั้งจากประเทศจีน อินเดีย หมู่เกาะมาเลย์ และดินแดนที่ไกลออกไป
ในปี ค.ศ. 1822 ราฟเฟิลส์ได้ประกาศใช้แผนการจัดการผังเมืองของราฟเฟิลส์ (Raffles Town Plan) ซึ่งเรียกกันอีกชื่อว่า แผนการแจ็คสัน (Jackson Plan) เพื่อเข้ามาจัดการปัญหาความไร้ระเบียบในดินแดนอาณานิคมแห่งนี้ บริเวณย่านที่พักอาศัยได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนตามเชื้อชาติ เมืองยุโรปมีผู้พำนักเป็นพ่อค้าชาวยุโรป ชาวยูเรเซีย และชาวเอเชียผู้มั่งคั่ง ในขณะที่ชุมชนชาวจีนนั้นตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นไชน่าทาวน์ในปัจจุบันและด้านตะวันออกเฉียงใต้ของแม่น้ำสิงคโปร์ ชาวอินเดียพักอาศัยอยู่ในย่านชูเลีย กัมปง (Chulia Kampong) ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของย่านไชน่าทาวน์ และย่านกัมโปงกลาม ก็จะมีชาวมุสลิม ชาวมาเลย์ และชาวอาหรับซึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์ สิงคโปร์ยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องในฐานะสถานีการค้า โดยมีการตั้งธนาคารพาณิชย์ สมาคมนักธุรกิจ และสภาหอการค้าที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง ในปี ค.ศ. 1924 มีการเปิดสะพานซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมทางตอนหนือของสิงคโปร์กับยะโฮร์ บาห์รูของมาเลเซีย
           ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  สิงคโปร์ถูกโจมตีโดยกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ผู้รุกรานบุกเข้ามาทางทิศเหนือ โดยทำให้ผู้บัญชาการกองกำลังของอังกฤษหลงกลเนื่องจากคาดว่าญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกจากทางทิศใต้ ถึงแม้ว่าจะมีกองกำลังมากกว่า แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยอมแพ้ต่อกองกำลังญี่ปุ่นในวันตรุษจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 นับเป็นการยอมแพ้ของกองกำลังที่นำโดยอังกฤษครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เกาะแห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามว่า “ป้อมปราการที่ไม่อาจตีฝ่าเข้าไปได้” ได้รับการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น โชนันโตะ (Syonan-to) (หรือ “แสงแห่งเกาะใต้” ในภาษาญี่ปุ่น)เมื่อกองทัพญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในปี ค.ศ. 1945 เกาะสิงคโปร์จึงถูกส่งมอบให้แก่คณะผู้บริหารกองทัพอังกฤษ (British Military Administration) ซึ่งอยู่ในอำนาจมาจนกระทั่งมีการยุบนิคมช่องแคบ (Straits Settlement) ซึ่งประกอบด้วย เกาะปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1946 สิงคโปร์ได้กลายเป็นดินแดนอาณานิคมอังกฤษ
ในปี ค.ศ. 1959 กระแสชาตินิยมที่ทวีขึ้นทุกขณะได้นำไปสู่การปกครองตนเอง และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party - PAP) ชนะการเลือกตั้งครองเสียงข้างมากในสภาจำนวน 43 ที่นั่ง และนายลี กวน ยู ก็ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์
           พ.ศ.2506 สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมลายา หรือมาเลเซียในปี (ค.ศ. 1963 )ได้มีการก่อตั้งประเทศมาเลเซีย ซึ่งประกอบขึ้นด้วยสหพันธรัฐมาลายา สิงคโปร์ ซาราวัก และบอร์เนียวเหนือ (ปัจจุบันนี้คือซาบาห์) การเดินเกมการเมืองในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าการควบรวมสิงคโปร์เข้าไปในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ 
         พ.ศ.2508 สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซีย และประกาศตัวเป็นเอกราช ตั้งแต่นั้นมาสิงคโปร์ก็พยายามพัฒนาและปรับปรุงประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า และประชากรมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่สูงสุด
ทุกวันนี้ สิ่งของและสถานที่ต่าง ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย เรื่องราวในยุคสมัยอาณานิคม และยุคสงคราม ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดีทั้งในตัวเมืองและบริเวณรอบ ๆ สามารถเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และอนุสรณ์สถานต่าง ๆ หรือเดินทางย้อนเวลากลับไป โดยการเดินไปตามเส้นทางเดินเที่ยวสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

ชื่อสำคัญในตำบลรัษฎา

ตำบลรัษฎา เดิมชื่อ ตำบลสั้นใน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ได้มีการเปลี่ยนชื่อตำบลชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต (พ.ศ. ๒๔๔๔- ๒๔๕๖) และเป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ระนอง
พื้นที่ตำบลมีเนื้อที่โดยประมาณ ๓๘ ตารางกิโลเมตรพื้นที่ประมาณ ร้อยละ ๔๐ เป็นภูเขา อีกร้อยละ ๖๐ เป็นพื้นที่ราบประกอบด้วยที่ราบเนินเขา (ม.๒, ๓, ๕ และ ม.๖) และที่ราบริมฝั่งทะเล (ม.๑, ๔ และ ๗) ซึ่งเป็นป่าชายเลน มีหมู่บ้าน ๗ หมู่บ้าน ม.๑ บ้านเกาะสิเหร่ ม.๒ บ้านบางชีเหล้า,หมู่ที่ ๓ บ้านกู้กู, ม.๔ บ้านแหลมตุ๊กแก, ม.๕ บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก, ม.๖ บ้านลักกงษี ม.๗ บ้านท่าเรือใหม่
                บ้านกู้กู
บ้านกู้กูเกิดจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านที่ค่อนข้างลำบากยากจน ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มใดเพราะตามตำนานเล่าขานมีสองความเห็นคือ หนึ่ง เป็นทาสที่ได้รับการปลดปล่อย กับความเห็นที่สองคือ ชาวบ้านไพร่พลยากจนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น และพบว่าบริเวณหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งภูเขา แหล่งน้ำ ทะเล สามารถทำการเกษตร ปลูกผัก ยางพารา ทำนา ซึ่งนาผืนสุดท้ายปัจจุบันคือ ไร่วานิช นอกจากนี้มีการทำประมงชายฝั่งดักจับสัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องมือที่ทำขึ้นเช่นใช้นางหากุ้ง ต่อมาก็มีการร่อนแร่ตามลำราง จากความอุดมสมบูรณ์จนมีการเปรียบเทียบว่าถ้าอยู่ที่กู้กูไม่ต้องซื้อกับข้าวเพียงหุงข้าวไว้แล้วออกไปหาอาหารกลับมาข้าวสุกได้กินพร้อมข้าวพอดี นั้นหมายถึงบริเวณใกล้ ๆ บ้านก็สามารถหาอาหารได้ง่ายไม่ลำบาก จนทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดี จึงบอกว่าพื้นดินแห่งนี้คือแหล่งกู้กูและเรียกว่าหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านกู้กู”
ในครั้งหนึ่งที่ชาวบ้านและคุณลุงจำรัส ภูมิภูถาวร ครูภูมิปัญญาได้มีโอกาสได้เข้าถวายงานต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพฯ ณ สวนอัมพร ปรากฏว่าเมื่อขึ้นชื่อป้ายหมู่บ้านมีข้าราชการมาบอกว่าให้เอาลงเนื่องจากไม่สุภาพ แต่เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงได้ตรัสถามว่าเหตุใดจึงไม่มีป้ายชื่อเมื่อสดับฟังก็ทรงตรัสด้วยพระเมตตาว่า “ท่านก็กูเราก็กู” ยังความปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้แก่ราษฎรบ้านกู้กู
                บ้านท่าจีน / บ้านคอกช้าง
ในช่วงที่มีการอพยพตั้งรกรากอาศัยบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวจีนโพ้นทะเลที่มีการเดินทางมาตามเส้นทางสิงคโปร์ ปีนัง ส่วนใหญ่มาจากมณฑลฮกเกี้ยนของจีน มีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน มาตั้งถิ่นฐานริมชายฝั่งเกาะภูเก็ตและที่ท่าจีนนี้ มีการสร้างท่าเทียบเรือเป็นที่สำหรับจอดเรือขนาดเล็กมีท่าบน และท่าล่าง จึงเรียกว่าท่าจีนจากการที่ผู้คนที่อยู่บริเวณท่าส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน มีอาชีพทำสวน ทำไร่ หาปลา หาปูโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่ายอง
ถัดมาเรียกว่า บ้านคอกช้างเพราะเป็นพื้นที่ที่เดิมใช้เลี้ยงช้าง
เกาะสิเหร่
ความเป็นมาของชื่อ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เป็นพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต โดยมีคลองท่าจีนระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่มีสะพานเชื่อมการคมนาคมระหว่างเกาะกับผืนดินของเกาะภูเก็ต ซึ่งอาจจะนับเป็นเกาะแยกออกมาหรือเป็นพื้นที่ของเกาะภูเก็ตก็ได้ เกาะสิเหร่อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 4 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร คนส่วนใหญ่มีอาชีพประมง เก็บหอย หาหอยมุก “สิเหร่” เป็นภาษา ยาวี มลายู แปลว่า  พลู  ใบพลู
จากภาษาชาวเลว่า ปูเลาสิเหร่ หมายถึง เกาะพลู (ปูเลา แปลว่า เกาะ, สิเหร่ แปลว่า พลู )
[ข้อมูลนี้ได้จากหนังสือ ถลาง ภูเก็ต และชายฝั่งอันดามัน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และเศรษฐกิจ กรมศิลปากรพิมพ์เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง 14 มีนาคม 2532 หน้า 222]
มีความเป็นไปได้ว่าลักษณะของเกาะสิเหร่ใกล้เคียงกับเกาะปีนังซึ่งในแผนที่เดินเรือ เรียกว่า ปูเลา ปีนัง หรือ เกาะหมาก เมื่อนักเดินเรือที่เดินทางจากปีนังมาพบเกาะสิเหร่นี้จึงให้เป็นเกาะแฝดและใช้ชื่อว่า ปูเลาสิเหร่ หรือ เกาะพลู และใช้ชื่อ เกาะสิเหร่สืบต่อมา
รูปภาพประกอบ
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงสภาพพื้นที่เกาะสิเหร่


ภาพแสดง บ้านแหลมตุ๊กแก
สถานที่สำคัญ
(๑)   แหลมตุ๊กแก ตั้งอยู่บริเวณบนเกาะสิเหร่ หมู่ที่ ๔ ตำบลรัษฎา บ้านแหลมตุ๊กแก คือ หมู่บ้านชาวเลกลุ่มใหญ่ที่สุดของภูเก็ต หมู่บ้านอยู่ปลายสุดของเกาะสิเหร่ส่วนหนึ่งเป็นชาวอูรักลาโว้ย หรือที่เรียกได้หลายชื่อ อาทิ ชาวเล, ชาวน้ำ, ชาวไทยใหม่ อาศัยอยู่บริเวณนี้มาช้านานมีจำนวนกว่า 200 หลังคาเรือน บ้านแต่ละหลังเป็นบ้านไม้ที่สร้างขึ้นแบบเรียบง่าย
(๒)  แหลมหงา ตั้งอยู่บนเกาะสิเหร่ หมู่ที่ ๑ เป็นหมู่บ้านชาวไทยที่ดั้งเดิมมีบรรพบุรุษส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาลายู อินโด นับถือศาสนาอิสลาม มาอาศัยอยู่ก่อน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีคนย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยและมีการแต่งงานแยกครอบครัวออกไปบ้างจึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนพื้นถิ่นเดิมอาศัยปลูกยางทำสวน ทำไร่ ประมง หาปลา หาหอย

โหนทรายทอง
เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมบริเวณนี้เป็นแหล่งทำแร่ดีบุกแต่เมื่อเลิกเหมืองแร่จึงเหลือสภาพเป็นเนินทรายขนาดใหญ่ซึ่ง คนภูเก็ต เรียกว่าท่องขี้ทราย หรือโหนขี้ทราย เมื่อเกิดเป็นชุมชน จึงตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า โหนทรายทอง

วัดโฆษิตวิหาร
วัดโฆษิตวิหาร เดิม เรียกว่า วัดโคกแสร้ง หรือ โคกแซะ เนื่องจากที่ตั้งมีต้นแซะจำนวนมาก จนเปลี่ยนมาเป็นวัดโฆษิตวิหารและได้รับวิสงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๕๕
บ้านโดราว เพี้ยนมาจาก ประดู่ราว (สำเนียงท้องถิ่นภูเก็ตเรียกต้นประดู่ว่าต้นโด) เนื่องจากมีการปลูกประดู่เป็นแถวต่อเนื่องตลอดแนว
บริเวณนี้ในอดีต คือลานประหาร และ นักโทษประหารรายสุดท้ายคือ นายจันทร์ บริบาล หรือหมอจันทร์ ผู้ปลิดชีพ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ด้วยปืนเบรานิ่ง เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖ และ ถึงอนิจกรรมหลังจากรักษาตัวหลังจากนั้นอีก ๔๕ วัน ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๕๖ ณ เมืองปีนัง มาเลเซีย
รูปภาพประกอบ
-          สถานที่สำคัญ บ้านโคกแซะ หรือ โคกแสร้ง, ลานประหารมณฑลภูเก็ต
-          บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง นายจันทร์ บริบาล พระยารัษฎานุประดิษฐ์

สุสานพระอร่าม
หลุมฝังศพของอำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขต ตั้งอยู่ริมถนนเทพกระษัตรี ตำบลรัษฎา ที่มีความวิจิตรซุ้มประตูสร้างด้วยศิลปะแบบจีน สถูปอาคารเป็นทรงลังกาแบบสุโขทัย และตกแต่งภายในแบบยุโรป  อย่างวิจิตรงดงาม พร้อม อนุสาวรีย์ พระอร่ามสาครเขต และฝังสมบัติ เครื่องเพชร ทอง รัตนชาติไว้ ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
-          สถานที่สำคัญ สะพานพระอร่าม บ้านพระอร่ามสาครเขตร วัดป่าอร่ามรัตนาราม โรงพยาบาลมิชชั่น
-          บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง พระอร่ามสาครเขต ต้นตระกูล ตัณฑัยย์

เขาโต๊ะแซะ เป็นยอดเขาสูงเป็นที่ตั้งสถานีส่งสัญญาณโทรทัศน์ และวิทยุ หากขึ้นมาจากทางศาลจังหวัดภูเก็ต ตรงเชิงเขาทางด้านซ้ายมือ จะเห็นมีศาลเจ้าพ่อโต๊ะแซะตั้งอยู่
ศาลเจ้าพ่อโต๊ะแซะ มีอยู่สองแห่งด้วยกัน คือ ที่ถนนสุทัศน์กับบนยอดเขาโต๊ะแซะ ภายในศาลเจ้ามีรูปหล่อของโต๊ะแซะขาว โต๊ะแซะดำ และโต๊ะแซะแดง ซึ่งเชื่อกันว่า ท่านเป็นเจ้าที่ ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพนับถือกันมาก บางคนที่เคร่งจริงๆ เค้าจะไม่ทานหมู ทุกวันศุกร์ ที่ศาลเจ้าพ่อโต๊ะแซะนี้ เค้าจะจัดงาน เซ่นไหว้บวงสรวง เป็นประจำในเดือนหกของทุกปี โดยในวันนั้น จะมีการประทับทรงและเซ่นไหว้กัน ซึ่งของเซ่นไหว้ก็มี พริกแดง หมากพลู ยาเส้นใบจาก ดอกไม้ พวงมาลัย ข้าวเหนียวขาว และข้าวเหนียวเหลือง ส่วนที่ห้ามเด็ดขาดเลยก็คือ ห้ามนำหมู เข้ามาในศาลเจ้าเด็ดขาด
          ประวัติความเป็นมา เล่าว่าบริเวณภูเขาแห่งนี้เป็นที่อยู่ของนักปราชญ์ชาวมุสลิม ๓ ท่านซึ่งเป็นพี่น้องกัน คือโต๊ะแซะขาว โต๊ะแซะดำ และโต๊ะแซะแดง ตามลำดับ (คำว่าโต๊ะ หมายถึงผู้อาวุโส  และ แซะ หมายถึง อาจารย์ นักปราชญ์ ผู้รู้ )เป็นที่เครารพนับถือของชาวบ้านอย่างมากจนเมื่อท่านสิ้นชีวิตก็มีความเชื่อและยังนับถือมาถึงปัจจุบันโดยมีการสร้างศาลแห่งแรกบริเวณเชิงเขา ถนนสุทัศน์ไว้และมีสร้างบนยอดเขาเป็นแห่งที่สอง
          บนยอดเขามีน้ำตก เรียกกันว่า น้ำตกบางวัน เนื่องจากจะมีสภาพเป็นน้ำตกเฉพาะช่วงที่มีฝนตก

เขานางพันธุรัตน์เป็นเทือกเขาสำคัญในจังหวัดภูเก็ต เล่าต่อกันมาว่าในอดีตช่วงที่ภูเก็ตมีการทำเหมืองแร่ดีบุกชาวบ้านออกมาร่อนแร่ได้เครื่องประดับทองจำนวนมากแต่ไม่สามารถใส่ได้เพราะมีขนาดใหญ่เกินปกติเช่นแหวนแต่มีขนาดเท่ากำไล จึงคิดว่าภูเขาแห่งนี้ต้องเคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์จึงเรียกว่า เขานางพันธุรัตน์ ตามชื่อนางยักษ์ในวรรณคดีไทย เรื่องสังข์ทอง

บางชีเหล้า
คำว่า บางชีเหล้า เพี้ยนมาจาก บางเจ๊ะหล้า (บาง = คลอง , ชีเหล้า เพี้ยนมาจากเจ๊ะหล้า หรือ พี่ ชื่อหล้า) ชุมชนบริเวณนี้เกิดจากการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิม บริเวณใกล้ริมคลอง

ในอดีตมีหมอยาที่เป็นที่รู้จักในนาม โต๊ะจีน แต่ไม่ทราบชื่อเดิม ที่เรียกกันว่าโต๊ะจีนเนื่องจากท่านเป็นมุสลิมที่สามารถพูดจีนได้และมีเพื่อเป็นคนจีนมากจนใคร ๆ ต่างตั้งสมญานามว่าโต๊ะจีน และมีน้องสาวเป็นหมอตำแย ชื่อดัง ชื่อ สม้า ใคร ๆ ก็เรียก มะสม้า