วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

 

ชุดความรู้พื้นที่รูปธรรมตำบลจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและสมดุล

เทศบาลนครภูเก็ต  อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

“นครภูเก็ตเมืองแห่งความหวัง สังคมแห่งการให้ บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม”

 

บริบทของพื้นที่

เทศบาลนครภูเก็ตประกอบด้วยพื้นที่ ๒ ตำบลคือ ตำบลตลาดเหนือและตำบลตลาดใหญ่ แต่เดิมเป็นสุขาภิบาลเมืองภูเก็ต ต่อมาสุขาภิบาลเมืองภูเก็ตได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองภูเก็ต โดยพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งเทศบาลเมืองภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๗๘ เรียกว่า "เทศบาลเมืองภูเก็ต" เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ และได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลนครภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ พื้นที่ ๑๒ ตารางกิโลเมตร

          ทิศเหนือ จด ท้องที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

          ทิศใต้ จด ท้องที่ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

ทิศตะวันออก จด  ท้องที่ตำบลรัษฎา และทะเลอันดามัน

          ทิศตะวันตก จด  อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

          ปัจจุบันมีการจัดตั้งชุมชนในท้องที่ตำบลตลาดใหญ่ รวม ๒๒ ชุมชน ประกอบด้วย

          ๑. ชุมชนหลังศาลากลางจังหวัดภูเก็ต, ๒. ชุมชนโกมารภัจจ์, ๓. ชุมชน ๔๐ ห้อง, ๔. ชุมชนต้นโพธิ์,

๕. ชุมชนกอไผ่ ๖. ชุมชนแสนสุข ๗. ชุมชนร่วมน้ำใจ ๘. ชุมชนสะพานร่วม ๑  ๙. ชุมชนสะพานร่วม ๒

๑๐. ชุมชนถนนหลวงพ่อ  ๑๑. ชุมชนสุทัศน์ ซอย ๒   ๑๒. ชุมชนขุมน้ำนรหัช ๑๓. ชุมชนสามัคคีสามกอง

๑๔. ชุมชนย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต  ๑๕. ชุมชนย่านเมืองเก่าชาเตอร์แบงค์  ๑๖. ชุมชนอ่าวเกใน

๑๗. ชุมชนซีเต็กข่า  ๑๘. ชุมชน ๑๓๑ ๑๙.ชุมชนหลังหอประชุม ๒๐.ชุมชนซีเต็กข่า2 ๒๑.ชุมชนซีเต็กข่า3

 ๒๒.ชุมชนซีเต็กข่า4 (23.ชุมชนหัสนานิเวศน์ กำลังรอดำเนินการ)

 

 

 


ในอดีตตำบลตลาดใหญ่ เป็นตำบลที่เป็นที่ตั้งของจวนเจ้าเมืองเก่าภูเก็ต ย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองภูเก็ต  บุคคลสำคัญส่วนหนึ่งเป็นทั้งข้าราชการสำคัญ และคหบดีที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต 

“ตลาดใหญ่” เป็นชื่อเรียกตำบลหนึ่งในเขตเทศบาลนครภูเก็ต แต่เดิมหมายถึงพื้นที่บริเวณย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ต บริเวณถนนถลาง ตั้งแต่สี่แยกแถวน้ำ ไปจดต้นสายถนนกระบี่ ซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ได้ย้ายเมืองภูเก็ต จากบ้านเก็ตโฮ่มายังบ้านทุ่งคา ริมคลองบางใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒  คนพื้นเมืองภูเก็ตจะเรียก ตลาดใหญ่ ตามภาษาถิ่นว่า “หลาดใหญ่” ทั้งนี้ในอดีต ตลาดใหญ่ เป็นย่านการค้าที่มีความเป็นพหุสังคมประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ อาทิ จีน อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบด้วยผู้คนหลากหลายศาสนาและความเชื่อมาประกอบอาชีพค้าขาย อาทิ พุทธ อิสลาม ฮินดู ซิกซ์ คริสต์ เป็นต้น อยู่ร่วมกันจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้คนกลุ่มใหญ่จะเป็นคนจีนที่มาตั้งรกรากและเรียกตลาดใหญ่ว่า “ตัวโพ้” ซี่งคำว่า “ตัว” ในภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง ใหญ่ และคำว่า “โพ้” หมายถึง ย่านการค้าหรือตลาดนั้นเอง

 



    สี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ในปัจจุบัน

 

          ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดภูเก็ต ที่ให้เราดื่มด่ำไปกับความสวยงามของอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสที่ตั้งเด่นเป็นสง่าตลอดสองฝั่งถนน อาคารเก่าแก่เหล่านี้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2446 เมื่อย้อนกลับไปในอดีต ภูเก็ตเต็มไปด้วยทรัพยากรแร่ดีบุกที่มีราคาสูง เป็นเหตุผลให้ชาวตะวันตกและชาวจีนสนใจเข้ามาลงทุนซื้อขายแร่ดีบุกกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและจีน สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่เห็นในปัจจุบัน และกลายเป็นแลนด์มาร์คที่มีเสน่ห์ดึงดูดให้ใครต่างก็อยากเข้ามาสัมผัส

บทบาทของสภาองค์กรชุมชนกับการฟื้นฟูและพัฒนาคนในชุมชน





          เขตเทศบาลนครเป็นย่านชุมชนเมืองมาแต่อดีตการเติบโตมีมายาวนานผู้คนหลากหลายเข้ามาเพื่อลงทุน หางาน ค้าขาย และมีเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองมากในช่วงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเมื่อหมดยุคเหมืองแร่ก็ได้ทิ้งร่องรอยความเจริญตราบถึงปัจจุบัน

          การอาศัยในเขตเมืองทำให้ผู้คนต้องมีการดิ้นรนเพื่อแข่งขันทำมาหากินโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว ที่ดินราคาแพง ค่าครองชีพสูง เพื่อความอยู่รอดลดความเหลื่อมล้ำทำให้ต้องมีการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เทศบาลนครภูเก็ตมีการรวมกลุ่มที่อยู่อาศัยเป็นลักษณะชุมชน และสภาองค์กรชุมชนเป็นกลุ่มองค์กรที่พัฒนามาจากการเริ่มรวมตัวกันจากการแก้ปัญหาเมื่อปี 2548 และเริ่มจากกลุ่มออมทรัพย์ต่อยอดเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อมาดูแลเรื่องสวัสดิการพื้นฐานเกิดแก่เจ็บตายให้คนในชุมชน เมื่อกองทุนมีความเข้มแข็งก็สามารถเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกันภายใต้สภาองค์กรชุมชน และกลุ่มที่มีความโดดเด่นในเขตเทศบาลนครได้แก่ชุมชนย่านเมืองเก่าและวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า เนื่องจากก่อนสถานการณ์โควิดย่านการค้าภูเก็ตเริ่มเปลี่ยนไปมีการซบเซาลงเนื่องจากมีการเปิดตัวศูนย์การค้าขนาดใหญ่จำนวนมากกระจายตัวไปตามแหล่งท่องเที่ยวหลักเช่น ป่าตอง เชิงทะเล และ เขตตำบลวิชิต ทำในการค้าในเขตเมืองลดความสำคัญลงจึงเกิดการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาและมาพัฒนาชุมชนย่านเมืองเก่าจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว



อั่งอาหล่าย หรือ ซอยรมณีย์

จากบทสัมภาษณ์ คุณสมยศ   ปาทาน   ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า ถ้าไม่ทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน เราจะไม่สามารถต้านกระแสทุนนิยมได้ ซึ่งเราไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง เพราะนั่นไม่ใช่การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างแท้จริง เราจึงไม่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยว แต่เน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ”

จังหวัดภูเก็ตถือเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีหาดทรายขาว ทะเลสวย ที่ชวนให้หลงใหลแล้ว ยังมี “ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต” อีกจุดหมายที่จะสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมให้แก่ผู้มาเยือนอีกด้วย ซึ่งในอดีตชุมชนนี้ได้ทำถนนคนเดินจนเป็นที่นิยม และนับเป็นถนนคนเดินแห่งแรกๆ ของไทยที่ชาวบ้านลงทุนลงแรง บริหารจัดการเอง และเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง แต่การทำการท่องเที่ยวในครั้งนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะเกิดปัญหาว่าทำไมนักท่องเที่ยวมาเยอะ แต่ชุมชนกลับไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร จนพบว่าการทำการท่องเที่ยวกระแสหลักเพียงอย่างเดียว ทำให้เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่เกิดจากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวไปอยู่ที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหารขนาดใหญ่ หรือโรงแรม ส่งผลให้รายได้ไปไม่ถึงชุมชน ชาวชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต จึงพูดคุยระดมความคิดในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ อย่างสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่แต่ยังคงความงดงาม มาชูเป็นจุดเด่นในการท่องเที่ยว และนำเสนอในรูปแบบ "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" เพื่อให้เกิดการกระจายรายอย่างเท่าเทียม โดยมีอพท.และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในพื้นที่และส่วนกลางมาช่วยหนุนเสริม โดยชุมชนเริ่มเตรียมความพร้อมด้วยการขอคำแนะนำจากชุมชนที่มีศักยภาพในการทำท่องเที่ยว มาแบ่งปันความรู้และช่วยเสนอข้อคิดเห็น จนเกิดเป็นเครือข่ายชุมชนของจังหวัด  หันไปเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ โดยลบภาพจำเดิมๆ และพยายามนำเสนอแง่มุมใหม่ๆ ในการท่องเที่ยวอย่าง Local Experience หรือการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชน และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้กิจกรรมมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยไม่ได้เลือกนำเสนอทุกอย่างในชุมชน แต่เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดกลับไป ถึงแม้การตลาดจะดีอย่างไร แต่ถ้าไม่เอื้อต่อคนทุกเพศทุกวัย หรือบุคคลที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีมาตรฐาน ก็จะเติบโตได้ยาก เหล่านี้ทำให้ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตสามารถเปิดรับตลาดกลุ่ม MICE และมีการทำท่องเที่ยวเชิงชายฝั่ง รวมถึงเริ่มจดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์อีกด้วย

ถึงแม้ช่วงนี้จะเกิดวิกฤตจากโควิด-19 แต่ ด้วยโครงสร้างของชุมชนที่เข้มแข็ง มีการจัดการที่ดี และมีความพร้อมอยู่เสมอ ทำให้ช่วงโควิดระลอกที่ผ่านมา แม้ชุมชนจะทำการท่องเที่ยวได้เพียง 4 เดือน แต่กลับมีรายรับร่วมหลักล้าน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ ปันผลและสร้างเป็นสาธารณประโยชน์ภายในชุมชนจะเห็นได้ว่าถึงแม้นักท่องเที่ยวจะลดลง แต่การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ก็ทำให้ชุมชนก็จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

.ที่ผ่านมาเราสู้มาโดยตลอด และไม่ได้ยึดเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะถูกครอบงำด้วยการท่องเที่ยวกระแสหลัก ซึ่งไม่ใช่การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างแท้จริง และหากเราไม่มาทำตรงนี้อาจจะมีคนนอกเข้ามาหาผลประโยชน์จากชุมชนของเราไปแล้วก็ได้ ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนทำให้สังคมเมืองที่เคยต่างคนต่างอยู่ เกิดการรวมกลุ่ม มาร่วมกันคิด ช่วยกันพัฒนา โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนี้เอง ที่ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จของชุมชนเรา”

สถานการณ์โควิด-19

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของไวรัส โคโรน่า 2019 ส่งผลกระทบอย่างหนักในเมืองท่องเที่ยวโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศทั่วโลก เมื่อเกิดการระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 2562 ภูเก็ตเป็นพื้นที่แรก ๆ ของโลกในการรับเชื้อที่แพร่กระจายจากต้นกำเนิดสู่ต่างแดน เราได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของไวรัสดังกล่าวจนสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ได้รับผลกระทบความเสียหายด้านเศรษฐกิจอย่างหนักจ ากการปิดตำบลปิดจังหวัด ปิดประเทศการใช้มาตรการที่เข้มงวดในการเว้นระยะห่างในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และที่สำคัญสถานการณ์ทั่วโลกยังขยายวงกว้างและรุนแรงในหลายภูมิภาค ทำให้ธุรกิจหลายอย่างต้องหยุดหรือปิดกิจการลง ผู้คนขาดอาชีพขาดรายได้ ทั้งที่มีรายจ่าย และหนี้สิน และเมื่อเกิดการระบาดในรอบ 3 ที่กระทบต่อจังหวัดภูเก็ตโดยตรงยิ่งซ้ำเติมคนในภูเก็ตมากขึ้น ผู้นำชุมชนและกลุ่มต่าง ๆ จึงได้มีการพูดคุยประเมินสถานการณ์เพื่อให้สามารถปรับตัวตั้งรับกับวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้และมองหาในทางฟื้นฟูชีวิตชุมชนท้องถิ่นกันอีกระลอกหนึ่ง


                     

ในช่วงโควิด-19 รอบแรกกองทุนสวัสดิการได้ให้ความช่วยเหลือคนที่อยู่ในชุมชนซึ่งพบว่าเป็นผู้ที่ไปประกอบอาชีพ รับจ้าง ค้าขาย งานโรงแรมสปา และหยุดกิจการกระทันหันทำให้ไม่ได้มีการตั้งรับไว้ในส่วนชาวบ้านได้มาวิเคราะห์สถานการณ์ว่าโรคระบาดน่าจะส่งผลกระทบอีกยาวจึงได้ทำโครงการเสนอ พอช. เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติโดยใช้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสนับสนุนการมีแหล่งอาหารชุมชนโดยการปลูกผัก ในครอบครัวต้นแบบ   ตามชุมชนต่าง ๆ สามารถออกผลผลิตให้ครัวเรือนลดรายจ่ายมีแบ่งปันมาจนถึงทุกวันนี้และในช่วงระบาดรอบ 3 การกระจายกล้าพันธุ์สอนวิธารปลูกพืชผลในพื้นที่จำกัดเพื่อให้คนในชุมชนได้แบ่งปันกันกิน

 




นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนระเบียบกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมีการเพิ่มการดูแลผู้ป่วยโควิดให้กับสมาชิก พร้อมทั้งมีการจำหน่ายสินค้าบริโภคที่จำเป็นในราคาคนละครึ่งกับสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนที่มีสมาชิกติดเชื้อโควิดและถูกกักตัว จำนวน 300 ชุด ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดภูเก็ตและเทศบาลนครภูเก็ต

  


กลไกการขับเคลื่อนชุมชน 

 

สภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครภูเก็ตเป็นองค์กรชุมชนที่สามารถเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและวิสาหกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีสามารถเชื่อมประสานเพื่อทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับคนในชุมชนในทุกมิติ ตัวอย่างผลงานที่โดเด่นของเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่

กองทุนสวัสดิการชุมชน

-        มีการพัฒนาระบบข้อมูลให้ทันสมัยสามารถออกรายงานและข้นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันได้

-        มีปฏิทินการทำงานที่สามารถลงพื้นที่โดยเฉพาะเข้าไปในชุมชนหมุนเวียนกันมีตัวแทนในชุมชนช่วยกันทำหน้าที่ดูแลกันได้ เช่น การเยี่ยมไข้ การเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อ การประสานความร่วมมือช่วยเหลือผู้เดือดร้อนคลอบคลุมหลายด้านตามความต้องการของสมาชิก เช่นการจำหน่ายสินค้าเพื่อยังชีพราคาถูกแก่สมาชิก

-        คนในพื้นที่ให้ความสนใจให้ความร่วมมือ ช่วยกันประชาสัมพันธ์บอกต่อ

-        การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การเก็บตะเกียบ หลอดกาแฟมาทำผลิตภัณฑ์จำหน่ายเป็นของที่ระลึกโดยเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวผู้พิการ ลดขยะรักษาสิ่งแวดล้อม

-        การประสานหน่วยงานหางานให้สมาชิก

 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สภาองค์กรชุมชนเทศบาลและสมาชิกของสภาสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดในพื้นที่ ทั้ง อบจ. และเทศบาลนคร โดยผู้บริหารของ อปท. ให้ความร่วมมือช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ด้วยดีตลอดมา มีการสนับสนุนงบประมาณให้อย่างต่อเนื่องเพื่อสมทบสมาชิกและพัฒนาองค์กร

วิสาหกิจชุมชน  การรวมกลุ่มของคนในชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครมีความโดดเด่นในการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะชุมชนย่านเมืองเก่า และกลุ่มท่องเที่ยวย่านเมืองเก่านอกจากพลิกฟื้นสถานการณ์ที่กำลังซบเซาให้กลับมาเกิดการตื่นตัวย่านการท่องเที่ยวได้ชัดเจน นอกจากนี้คนในชุมชนยังไม่ทอดทิ้งผู้ด้อยโอกาสมีการช่วยเหลือดูแลประสานกองทุนสวัสดิการในการช่วยเหลือสร้างโอกาส ดูแลด้านการเป้นอยู่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการรับฝากขายสินค้าจากเครือข่าย มีการจ้างงาน การออกร้าน การสาธิต การรับซื้อขนม เครื่องดื่มอาหารเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเกิดภัยโรคระบาดก็มีการออกแบบการช่วยเหลือสมาชิกเช่น การสำรวจข้อมูลสร้างความเข้าใจการกระจายวัคซีนให้สมาชิกสามารถรู้ถึงความสำคัญในการป้องกันโรคและเข้าถึงวัคซีน

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา

-                  ในส่วนของกองทุนสวัสดิการ ทางกลุ่มต่าง ๆ อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยทุกโอกาส ให้มีสื่อที่ทันสมัย มีการจูงใจให้มาเป็นสมาชิก เพิ่มช่องทางในการรับสมัครให้มากขึ้นมากกว่าระบบตัวแทนที่ทำกันอยู่

-                  การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์โรคติดต่อไม่เอื้อประโยชน์ต่อจังหวัดที่เน้นการท่องเที่ยวเป็นหลักเช่นภูเก็ต อีกทั้งสถานการณ์ยังคงดำเนินมาอย่างยาวนานและยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวของสมาชิกให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ ในส่วนของสมาชิกย่านเมืองเก่าก็มีการเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นร้านค้าร้านอาหารร้านกาแฟเพื่อให้เกิดการจ้างงาน

-                  ร้านค้า ที่พัก มีการจัดมาตรฐานความปลอดภัย โดยพยายามให้เข้ามาตรฐาน SHA และ SHA+  เพื่อให้สอดรับกับนโยบายจังหวัด

-                  การมีเข็มกลัดให้สมาชิกที่รับวัคซีนครบโดส เมื่อมาทำงานหรือเปิดร้านก็สร้างความมั่นใจแก่ลูกค้า

-                  การคัดกรองคนที่จะเข้ามาในจังหวัดทั้งนักท่องเที่ยวและไม่ใช่นักท่องเที่ยวให้มีความเข้มงวดไม่ควรมีการผ่อนปรนควรต้องผ่านการตรวจ หรือรับวัคซีนครบโดส เพราะสมาชิกมีความกังวลในมาตรการผ่อนผันให้กักตัว 14 วันได้ และยังมีคนที่เข้ามาแบบผิดขั้นตอน และการเข้ามาทางน้ำที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ รวมถึงคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ จึงเห็นควรว่าถ้าไม่ฉีดวัคซีนมาควรมีการตรวจ SWAP เพื่อความปลอดภัย

<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น