วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตามรอย ตำบลกมลา ภูเก็ต

โดย สภาองค์กรชุมชนตำบลกมลา
“ รักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม เศรษฐกิจดี ท่องเที่ยวมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน ”

ประวัติความเป็นมาและข้อมูลตำบลกมลา
                ตำบลกมลา ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีชายหาดที่สวยงานและมีความเป็นธรรมชาติ ตำบลกมลาเป็นตำบลเส้นทางเชื่อมต่อ ไปยังหาดสุรินทร์  หาดป่าตอง  สนามบินนานาชาติภูเก็ต
ตำบลกมลาเป็นตำบลที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยมีหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีผู้อาศัยอยู่ก่อนยุคประวัติศาสตร์จากการขุดพบเครื่องมือจากหินและขวาน อายุมากกว่า 3,000 ปี นอกจากนี้ยังมีประวัติเรื่องราวทายาทของพระนางเลือดขาวหรือพระนางมัสสุรีอาศัยอยู่
                สภาพภูมิประเทศตำบลกมลา เป็นภูเขาสลับกับที่ราบ และที่ราบลงสู่ทะเล ริมฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีเทือกเขากมลาล้อมรอบ 3 ด้าน มีแนวชายหาดกว้าง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ที่มีประชากรหนาแน่น   เดิมทีชาวกมลามีอาชีพทำนาบนที่ลาดต่ำจากเนินเขาสู่ทะเลหลายร้อยไร่ ซึ่งนาเหล่านี้อุดมสมบูรณ์ด้วย ป่าจากและสัตว์น้ำทั้งน้ำเค็มและน้ำกร่อย ชาวบ้านจึงมีอาชีพเสริมด้วยการทำประมงพื้นบ้านไว้เป็นอาหาร ถัดขึ้นไปเป็นภูเขาสูง มีการทำสวนผลไม้ เช่น ขนุน จำปาดะ ทุเรียนบ้าน เป็นต้น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ มีทั้งไทยพุทธและมุสลิมอยู่ด้วยกันอย่างพึ่งพา เอื้ออาทรต่อกัน โดยนับถือศาสนาอิสลามเกือบร้อยละ 90 ปัจจุบันตำบลกมลาเป็นแหล่งท่องเที่ยว    ย่านธุรกิจการค้า   โรงแรมและสถานบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (พฤศจิกายน - พฤษภาคม) และมีสถานท่องเที่ยวที่สำคัญภายในตำบล  เช่น  หาดกมลา  แหลมสิงห์   น้ำตกบางหวาน และแหล่งบันเทิงทางวัฒนธรรมขนาดใหญ่ คือ ภูเก็ตแฟนตาซีและอนุสรณ์สถานสึนามิเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียจากพิบัติภัยธรรมชาติ สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม2547 ตำบลกมลาแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 หมู่บ้าน คือ     หมู่ที่ 1 บ้านบางหวาน  หมู่ที่ 2 บ้านเหนือ      หมู่ที่ 3 บ้านนอกเล   หมู่ที่ 4 บ้านโคกยาง  หมู่ที่ บ้านหัวควน และหมู่ที่ 6 บ้านนาคา  มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อรักษาความมั่นคงของชุมชนเดิมไว้หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มแปรรูปผลผลิต กลุ่มอาชีพ ผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการชุมน และมีสภาองค์กรชุมชนขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่เข้าด้วยกัน

                ที่มาของชื่อตำบลกมลามีการสันนิฐานต่างกันตามร่องรอยประวัติศาสตร์และเรื่องราวตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาเป็น 2 แบบคือ
                1. ข้อสันนิษฐานจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตำบลกมลา เป็นตำบลในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวกับ กราบาลา หรืออ่าวลึกนั้นเอง แต่ได้เพี้ยนจาก กราบาลา ไปเป็นกรามาลา และกรามารา แล้วกลายเป็น "กำมะราอีกนัยหนึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า จากหลักฐานทางโบราณคดีเช่น ตำนาน พงศาวดาร ตลอดจนประวัติศาสตร์ ได้กล่าวถึงตำนานเมืองนครศรีธรรมราช อาณาจักรตามพรลิงค์ ได้ระบุว่า"เมืองตะกั่วถลาง"เป็นเมืองลำดับที่ 11 ตามเมืองนักษัตรของอาณาจักร ชื่อว่า"เมืองสุนัขนาม"หรือเมืองประจำปีจอ มีตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข และผู้ปกครองภูเก็จสมัยนั้นได้ถือรูปสุนัขมายกย่องนับถือ ซึ่งเมืองนี้อาจตั้งอยู่ที่อำเภอกระทู้ บ้านกมลาจึงอาจจะเพี้ยนมาจากชาวบ้านโบราณเรียกว่า "บ้านกราหม้า" (สำเนียงภูเก็ต) มีความหมายว่าหมู่บ้าน"ตราหมา"ซึ่งตรงกับตราประจำเมือง"สุนัขนาม"ในอดีต จนกระทั่ง ทำเนียบท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย พ..2486 หลังจากนั้นจึงมีผู้เกิดความคิดขึ้นว่า กำมะรา แปลไม้ได้ จึงได้เปลี่ยนให้เป็น กมลา เป็นภาษาไทยผสมอินเดีย แปลว่า ดอกบัว
                2.
ตามตำนานเล่าขนสืบทอดต่อกันมาว่า มีชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อตายมดิง บ้านเดิมอยู่ที่ กะรน มีอาชีพทำสวนกล้วยที่ป่าตอง นอกจากนี้แกเป็นคนแก่เรียน มีตำรามากมายเก็บไว้ที่ตำบลกมลา มีอาวุธประจำกายคือ หอก ซึ่งใหญ่มาก ไม่สามารถแบกได้เหมือนหอกทั่วไป จำเป็นต้องลากอยู่เป็นประจำ คือลากจากป่าตอง เพื่อทำสวนกล้วย(มีใบตองมากจึงเรียกป่าตอง) ลากไปบ้านกมลาเพื่อศึกษาตำรับตำรา และลากกลับบ้านที่กะรน(บ้าน) เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดชีวิต หมู่บ้านที่เก็บตำราของตายมดิง จึงกลายเป็นบ้านกมลา ปัจจุบันคำว่า ตำรา ภาษาพูดถิ่นใต้ จะพูดว่า ตำมหรา และอาศัยสำเนียงใต้นี้เอง 

ความสำคัญของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชนตำบลกมลา
                ในปี 2535 การท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากป่าตองมาถึงกมลาทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น มีนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยการกว้านซื้อที่ดินจากคนในพื้นที่ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ชาวบ้านต่างขายที่ดินออกไป จนเหลือเพียงที่ดินที่สร้างบ้านพอได้อาศัยอยู่เท่านั้น มีโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากมาย ผลประโยชน์ที่เกิดจากการท่องเที่ยวกับตกอยู่กับนายทุนแต่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องไปเป็นลูกจ้างในโรงแรม ลูกจ้างในกิจการการท่องเที่ยว และในแต่ละวันมีปริมาณขยะจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้แต่ไม่ถูกจัดการให้เกิดประโยชน์ ในปี2558 ที่ผ่านมาสภาองค์กรชุมชนตำบลกมลา ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านมีการคัดแยกขยะจากครัวเรือน เอาขยะเปียกมาทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ ส่วนขยะแห้งมีการเอาไปขายเพื่อนำรายได้สมทบเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ไปจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก (สุวัฒน์, 2559)

ปี 2559 คณะทำงานสภาองค์กรฯได้ร่วมกันทำเวทีแผนยุทธศาสตร์ตำบลกมลา โดยมีเครือข่ายภาคีเข้าร่วมคิดร่วมในยุทธศาสตร์การพัฒนาแกนนำและกลไกการจัดการของภาคประชาชน การจัดการเศรษฐกิจและทุนชุมชนและการจัดการสิ่งแวดล้อม (ขยะ) ท่องเที่ยวชุมชน  แนวคิดที่ว่าทำยังไงนักท่องเที่ยวจะลงสู่ชุมชนไม่ปล่อยให้ทุนต่างชาติเอาผลประโยชน์ไป คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลกมลาได้เห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นขับเคลื่อนงานดังกล่าว จึงได้ร่วมกันทำแผนงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชนสู่เศรษฐกิจทุนชุมชนฐานรากของตำบลกมลาในปี 2559 ภายใต้การสนับสนุนงบประมานจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน)

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บ้านท่าฉัตรไชย มีอะไรให้ดู

บ้านท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
โดย สภาองค์กรชุมชน จังหวัดภูเก็ต
เมืองหน้าด่าน ตำนานรักสารสิน ถิ่นมอเกล็น ดินแดนวัฒนธรรม
          ท่ามกลางกระแสแห่งทุนที่โถมกระหน่ำเข้ามายังดินแดนไข่มุกแห่งอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ ยังมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ณ บ้านท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ที่รวมตัวกันเพื่อจัดการท่องเที่ยวชุมชน บ้านท่าฉัตรไชย โดยจัดเส้นทางการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชน และสร้างชุมชนน่าอยู่ปลอดขยะและห่างยาเสพติดโดยตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาในท้องถิ่นโดยคนในชุมชน
          บ้านท่าฉัตรไชยคือประตูสู่จังหวัดภูเก็ตที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ตโดยมีสะพาน เทพกระษัตรี สะพานศรีสุนทร และสะพานสารสิน เชื่อมต่อเกาะภูเก็ตกับพื้นแผ่นดินใหญ่ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ตำนานสะพานรักสารสินที่เลื่องลือ บ้านท่าฉัตรไชยเป็น หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ยังคงรักษาขนบประเพณี วิถีชีวิต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของเกาะภูเก็ตจากระบบทุนขนาดใหญ่ ทำให้คนในพื้นที่ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตชุมชนเพื่อความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงเรายังคงพบเห็น การชีวิตร่วมกันของกลุ่มคนที่หลากหลาย อาชีพประมงพื้นบ้าน การหาหอย ปู ปลา แมงกะพรุน กุ้งมังกร และ จักจั่นทะเล ยังคงอยู่คู่กับการอนุรักษ์ป่าชายเลนอันเป็นแหล่งอาหารและอนุบาลสัตว์น้ำ เพราะคนบ้านท่าฉัตรไชย เรียนรู้ที่จะรักษาแหล่งอาหารและความสมดุลธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนสู่อนาคต ศิลปะ วัฒนธรรมอันดียังคงอยู่และสามารถนำมาถ่ายทอดประยุกต์เพื่อให้เกิดรายได้ ไม่ว่าจะเป็น อาหารทะเลสดๆ หรืออาหารทะเลแปรรูป พืชผักพื้นบ้าน การทำผ้าบาติก การฝังทรายบำบัดโรค หรือแม้นแต่การนำเสนอศิลปะการแสดงรองแง็ง ของชาวชาติพันธุ์ชาวมอเกล็น รวมทั้งเรื่องราวเล่าขานตำนานอันทรงคุณค่าที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจและแสวงหาความสุขจากการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชน ด้วยการร้อยเรียงเรื่องราววิถีชีวิตประเพณี วัฒนธรรมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนสืบไป

ที่มา
          จังหวัดภูเก็ต เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีความเป็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม มีหาดทราย ทะเล ป่าชายเลน ปะการัง รวมทั้งแหล่งวัฒนธรรม จารีตประเพณี จนทำให้ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ หันมาประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลัก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีนักธุรกิจทั้งต่างชาติเข้ามาลงทุนกันมากมาย การแสวงหาผลประโยชน์ จากความเป็นเมืองท่องเที่ยว มีการแข่งขันทางด้านธุรกิจ ในยุคทุนนิยม กระแสนิยม จนกลายเป็นการท่องเที่ยวกระแสหลัก คือ การขายบริการ การให้ความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อผลตอบแทนทางด้านการลงทุน จังหวัดภูเก็ต ไข่มุกแห่งอันดามัน หรือศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยว ในอนาคตหากมุ่งเน้นแต่ในด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จะกลับกลายเป็นการทำลาย สภาพของสังคมวัฒนธรรม และสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย ในที่สุดการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต หรือที่เรียกว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ก็จะเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขดูแลรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ โดยปล่อยให้การท่องเที่ยว กระแสหลักพัฒนาไปจนไม่มีขีดจำกัด หรือยังขาดมาตรการในการควบคุมดูแลที่ชัดเจนและเคร่งครัด ซึ่งจะส่งผลให้อนาคตลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปจะไม่ได้เห็น ไข่มุกแห่งอันดามันอย่างแน่นอน
สภาพทางภูมิศาสตร์ หมู่ที่ ๕ บ้านท่าฉัตรไชย เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ มีป่าชายเลนที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทะเลตามระบบนิเวศ มีหาดทรายแก้วเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีความหลากหลายทางสังคมประเพณี และวัฒนธรรม ความเป็น เอกลักษณ์ ของวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มอเกล็น รวมทั้งเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต จากความหลากหลายของสังคมในพื้นที่ หมู่ที่ ๕ บ้านท่าฉัตรไชย ซึ่งมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดภูเก็ตอย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก หมู่ที่ ๕ บ้านท่าฉัตรไชย ยังคงเป็นพื้นที่สังคมชนบท ด้วยสาเหตุที่เป็นพื้นที่ของทางราชการ(พื้นที่ราชพัสดุ)ที่มีไว้ตามนโยบายของรัฐบาล ให้กลุ่มประชากรฐานรากที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยได้เช่าอยู่ เพราะฉะนั้นกลุ่มทุนธุรกิจ หรือนักธุรกิจจึงไม่สามารถเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ได้  จากสาเหตุจำนวนประชากรที่เข้ามาอยู่รวมกัน เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์มอเกล็น ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสังคม มากมาย อาทิ ปัญหาด้านการศึกษายังมีผู้ไม่รู้หนังสือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาขยะและสภาพแวดล้อม ปัญหายาเสพติดและแหล่งมัวสุม ปัญหาด้านอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน และปัญหาการมีส่วนร่วม จากการสำรวจข้อมูลเชิงวิเคราะห์ SWOT เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ โดย ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้นำการวิเคราะห์มาเป็นแผนพัฒนาหมู่บ้าน โดยสรุปประเด็นการแก้ไขปัญหาวิกฤตของหมู่บ้านจะต้องพัฒนาที่ “คน” เป็นประการหลัก คือการสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มบทบาทให้คนในหมู่บ้านเกิดความรู้สึกความเป็นเจ้าของ โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาหมู่บ้าน คือ เมืองหน้าด่าน ตำนานรักสารสิน ถิ่นมอเกล็น ดินแดนวัฒนธรรม โดยอาศัยการบริหารจัดการกับสิ่งที่มีอยู่ภายในหมู่บ้าน สร้างความแตกต่างจากการท่องเที่ยวกระแสหลักของจังหวัดภูเก็ต มาเป็นจุดขายเพื่อดึงนักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตบ้านท่าฉัตรไชย ทั้งนี้หมู่บ้านจะต้องจัดระบบหมู่บ้านตนเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน อันจะนำมาสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ต่อไป


          จากวิถีชีวิตที่น่าสนใจของคน บ้านท่าฉัตรไชย นำไปสู่การรวมตัวครั้งสำคัญของชาวบ้านและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนชุมชนตามแนวทางการอนุรักษ์ วิถีวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจในการต่อยอดองค์ความรู้การพัฒนาเศรษฐกิจโดยชุมชนฐานราก จากชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่  สำนักงานจังหวัดภูเก็ต พัฒนาชุมชน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 กำนันตำบลไม้ขาว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน ตัวแทนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เครือข่ายและประชาชนเข้าร่วม ด้วยทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอย่างเหลือเฟือ ชุมชนจึงได้กำหนดฐานเรียนรู้เพื่อร้อยเรียงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยใช้แผนที่ทางความคิดของชุมชน บ้านท่าฉัตรไชย แบ่งเส้นทางออกเป็น 4 ฐาน ดังนี้

ผลการดำเนินงานและคุณค่าของโครงการคือ

“เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้และเกิดข้อตกลงกติการ่วมกันของคนในชุมชน
1.ฐานเรียนรู้เพื่อร้อยเรียงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 4 ฐานดังนี้
ฐานที่ 1 เมืองหน้าด่าน ลมหายใจแห่งภูเก็ต ศูนย์นวัตกรรมอุทยานฯ สัมผัสธรรมชาติล่องเรือแคนนู ชมความสมบูรณ์ของป่าชายเลน

ฐานที่ 2  ตำนานรักสารสิน ล่องเรือสายธารลำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ช่องปากพระ ชื่นชมพระอาทิตย์ตกดิน สัมผัสกับความรักที่อมตะนิรันกาล ชื่นชมกับการเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง วิถีชีวิตชาวประมงพื้นถิ่น 

 ฐานที่ 3 ถิ่นมอเกล็น วิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ มอเกล็นบ้านหินลูกเดียว สัมผัสกับวิถีชาวเลสัมผัส เพลงพื้นบ้านอันไพเราะ ระบำชาวเลที่น่าชื่นชม 

ฐานที่ 4 ดินแดนวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์และความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ ของดี OTOP ผ้าบาติกที่งดงาม ปลาเค็มที่แสนอร่อย แมงกะพรุนลอดช่องแห้งที่มีสารคอลลาเจนสูงจากธรรมชาติ ทำให้หนุ่มสาวขึ้นอีกหลายสิบปี 

          คนที่บ้านท่าฉัตรไชยสามารถร้อยเรียงเรื่องราวดีๆที่คนในชุมชนมีร่วมกันให้สามารถถ่ายทอดสู่สายตาผู้มาเยือนอย่างน่ารักและอบอุ่นเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีงามของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กระจายรายได้กลับเข้าสู่ชุมชนฐานรากอย่างแท้จริง โดยที่ยังรักษาไว้ซึ่งขนบประเพณีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สงบ สันติ และมีความสุขอย่างแท้จริง

2 ข้อตกลงกฎกติกา ข้อปฏิบัติของหมู่บ้าน ดังนี้
ช่วยกันรักษาดูแลความสะอาดภายในหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ
ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ตัวแทนครัวเรือนต้องเข้าประชุมทุกครั้ง
ไม่ขอข้อเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง
งดเหล้าบุหรี่ในเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน
ไม่ลักขโมยของผู้อื่น
ยอมรับและปฏิบัติตามกฎกติกาทุกข้อ
สร้างความรักความสามัคคีและเอื้ออาทรต่อกัน

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตามรอย ตำบลศรีสุนทร



ตำบลศรีสุนทร

คนดีศรีสุนทร รู้รักสามัคคี อยู่ดีมีสุข
ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โดย สภาองค์กรชุมชน ตำบลศรีสุนทร
ประวัติความเป็นมา

          ตำบลศรีสุนทรเกิดจากการรวมตำบลเข้าด้วยกัน 2 ตำบล คือ ตำบลท่าเรือ และตำบลลิพอน และได้ตั้งชื่อว่าตำบลศรีสุนทร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติแก่ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีผู้กอบกู้ป้องกันบ้านเมืองจากการรุกรานของต่างชาติ ต่อมาประชาชนชาวภูเก็ต โดยการนำของนายอ้วน สุระกุล ผู้ว่าราชการ จังหวัดภูเก็ต ในสมัยนั้น ได้ร่วมใจกันสร้าง อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 โดยอนุสาวรีย์ ตั้งอยู่กลางวงเวียน บนถนนเทพกระษัตรี อำเภอถลาง (บ้านท่าเรือ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๐ ณ ตำบลศรีสุนทรในปัจจุบันเพื่อให้ลูกหลานชาวไทยได้รำลึกถึงวีรกรรมของวีรสตรีและบรรพบุรุษชาวถลางที่ปกบ้านป้องเมืองไว้ให้ลูกหลานสืบมา
          นอกจากเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของปวงชนชาวไทยแล้ว ตำบลศรีสุนทรยังเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวพื้นบ้านที่น่าสนใจมากมายเช่น ประวัติบ้านท่าเรือ บ้านพอน บ้านม่าหนิก อีกทั้งยังมีวิถีชีวิตที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น หัตถกรรม จักรสาน ทำไม้กวาด ขนมพื้นบ้าน งานผ้าบาติก น้ำมันมะพร้าว การปลูกพืชผักพื้นเมือง การเกษตรเชิงอินทรีย์ บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมดังปรากฏสถานที่ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าท่าเรือ วัดศรีสุนทร วัดท่าเรือ ศาลหลักเมือง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง บ้านพระยาวิชิตสงคราม ฯลฯ 
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีแต่ชาวศรีสุนทรยังคงยืนหยัดที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อลูกหลานด้วยการรวมกลุ่มจัดตั้งสภาวัฒนธรรม กองทุนสวัสดิการชุมชน และสภาองค์กรชุมชนขึ้น เพื่อช่วยกันดูแล ชีวิตความเป็นอยู่ วิถีชุมชน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เหมือนที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้



ประวัติหมู่บ้านชุมชน
ตำบลลิพอน (เดิม)  บ้านลิพอน บ้านพอน หรือ บ้านหลีกพ้นมีหนึ่งความเชื่อเดิมเล่าว่า ในสมัยที่พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองถลาง ชาวบ้านได้หลบภัยมาอยู่ที่นี่ ทหารพม่าตามหาชาวบ้านไม่พบ ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่า บ้านหลีกพ้น
          ตำบลท่าเรือ (เดิม) บ้านท่าเรือ สถานที่แห่งนี้เป็นเมืองท่ามาตั้งแต่อดีต เคยเป็นท่าเรือใหญ่ที่ชาวต่างประเทศต้องแวะมาติดต่อกับเมืองถลาง บริเวณท่าเรือเคยเป็นที่อยู่ของ "พระยาพิมลขันธ์" ผู้เป็นสามีของท้าวเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2327 สมัยก่อนที่นี่มีบ้านเรือนอยู่ราว 80 หลังคาเรือนเท่านั้น
ท่าเรือแห่งนี้ถือเป็นแหล่งการค้าที่สมบูรณ์ที่สุด แขกบ้านแขกเมืองที่จะเข้ามาติดต่อการค้ากับหัวเมืองต่างๆ ก็ต้องนำเรือมาขึ้นลงที่ท่านี้ แล้วจึงนั่งช้าง หรือขี่ม้าออกไปยังหัวเมืองนั้นๆ
ภายในบริเวณท่าเรือก็จะมีการค้ารายย่อย เช่น เสื้อผ้า แพรพรรณ เครื่องประดับต่างๆ และชาวเมืองถลางท่าเรือก็มักจะนำสินค้าพื้นเมือง เช่น ดีบุก หรือของป่า มาแลกเปลี่ยนกับสินค้าเหล่านั้น เมืองถลางท่าเรือเคยมีเจ้าเมืองที่มาจากพ่อค้าชื่อ”เจ๊ะมะ” หรือ “มะเจิม” เจ๊ะมะ  เป็นบุคคลในตระกูลเชื้อสายเจ้า ผันชีวิตตนเองมาเป็นพ่อค้าที่มีชื่อเสียงอยู่ที่เมืองถลางท่าเรือ มีสมาชิกที่ร่วมกันทำการค้าที่บ้านท่าเรือเป็นจำนวนมาก เจ้าพระยานครได้ยกถลางท่าเรือขึ้นเป็นเมือง และให้เจ๊ะมะ เป็นพระยาถลาง ปกครองเมืองถลางท่าเรือ ต่อมามีประชาชนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการยกเมืองถลางขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ส่วนพระถลางเจิม ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น“พระยาถลางเจิม” พระยาถลางเจิมมีบุตรชายชื่อแก้ว ได้ตำแหน่งเป็นพระภูเก็จอยู่ที่บ้านเก็ตโฮ่ พระภูเก็ตแก้ว มีบุตรชายชื่อทัด ได้เป็นพระยาวิชิตสงคราม เจ้าเมืองภูเก็ต


          ในปี พ.ศ. 2491 ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกุลีจีนต่างก๊ก เรื่องผลประโยชน์ของการค้าแร่ ทำให้ผู้คนเดือนร้อน และล้มตายเป็นจำนวนมาก ท่านพระยาวิชิตสงครามจึงได้ออกจากเมืองภูเก็ต มาสร้างบ้านที่แข็งแรงดั่งป้อมปราการในที่ดินของปู่(พระยาถลางเจิม) ต่อมาพระยาวิชิตสงคราม แก่ชราลง ได้รับเลื่อนขึ้นเป็นพระยาจางวาง จึงได้ยกบ้านหลังนี้ให้กับพระยาภูเก็จลำดวน บุตรคนโตของท่าน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองภูเก็จ แต่พระยาภูเก็จลำดวนได้ติดค้างค่าภาษีอากร จึงมอบบ้านหลังนี้ให้เป็นของหลวง ปัจจุบันบ้านหลังนั้น ได้กลายเป็นโบราณสถานของจังหวัดภูเก็ต 

ของดีของคนตำบลศรีสุนทร
ม.1 บ้านลิพอนเขาล้าน สมัยก่อนภูเขาไม่มีต้นไม้ เลยเรียกกันมาว่าบ้านลิพอนเขาล้าน

ม.2 บ้านลิพอนบางกอก สมัยก่อนเรียกหมู่บ้านหลีกพ้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านลิพอน ต่อมามีพม่าตีถลางผ่านมาหมู่บ้านทำให้พม่ามองไม่เห็นหมู่บ้านเพราะมีต้นไม้บังเป็นเกาะอยู่ พม่าไม่เห็นเลยเข้าไปทางป่าคลอก ทำให้มีชื่อเรียกกันว่าบ้านลิพอนบางกอก
·       
ม.3 หมู่บ้านท่าเรือ เดิมมีคลองที่ใหญ่และมีเรือ 3 หลัก สำหรับบรรทุกสินค้าสมัยโบราณสถานที่สำคัญได้แก่
·     อนุสาวรีย์  วีรสตรีท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร, บ้านพระยาวิชิตสงคราม,ศาลหลักเมือง
               บ้านพระยาวิชิตสงคราม  ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับศาลเจ้าท่าเรือ  มีคลองหัวท่าขั้นระหว่างบ้านพระยาวิชิตสงครามกับศาลเจ้าท่าเรือ และอยู่ห่างจากสี่แยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทรเพียงเล็กน้อย บ้านพระยาวิชิตสงครามมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึง อยู่ ๒ ฉบับ ทำให้ได้ความกระจ่างเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี  คือ  หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการ แหลมมลายู ร.. ๑๒๑  ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์       และหนังสือจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.. ๑๒๘  ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ โดยทั้ง ๒ พระองค์ได้เสด็จสถานที่แห่งนี้  และได้ระบุลักษณะของบ้านหลังนี้ไว้ตรงกันคือ มีกำแพงมั่นคงแข็งแรง และมีป้อมหรือหอรบอยู่ทั้ง ๔ ด้าน โดยเฉพาะรัชกาลที่ ๖ ทรงเสด็จ ฯ สถานที่แห่งนี้เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ร.. ๒๘ (..๒๔๕๒

ม.4 หมู่บ้านบางโจ เดิมเป็นหมู่บ้านที่ทำไร่เลื่อนลอย อยู่ตามริมน้ำ เป็นหลุมเป็นบ่อ
·    
ม.5 บ้านลิพอนใต้ ตั้งอยู่ทิศใต้ของหมู่บ้านและเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่  บ้านนาสาด มีนามาก ช่วงที่นาข้าวสุกจะดูเหมือนกับพื้นสาด(เสื่อ) เป็นที่ตั้ง อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร
·  
ม              ม.6 บ้านยา เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ไปมาลำบาก ชาวบ้านจึงไม่ค่อยเดินทางไป
      เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่นางถลาง

ม.7 บ้านม่าหนิก บางตำนานเล่าขานเชื่อกันว่าเป็นเพราะม้าบรรทุกสินค้าหนักมาก ทำให้ม้าตาย จึงเพี้ยนมาเป็นม่าหนิก
อีกความเชื่อคือ ชื่อว่า"บ้านมานิค"ซึ่งมาจากคำภาษาทมิฬโบราณ แปลว่า "ทับทิม หรือ แก้ว" มีการสันนิษฐานว่าเป็นชื่อผันแปรมาจากคำว่า "มนิกกิมัม"ในจารึกภาษาทมิฬที่พบจากอำเภอตะกั่วป่า ใกล้ๆกับเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไวษณพนิกายซึ่งถูกทิ้งอยู่ในเขาพระนารายณ์นานมาแล้ว คำว่า "มนิกกิมัม"แปลว่า"เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว"
·       มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ด้าการปลูกผักปลอดสารพิษ , ด้านการเลี้ยงปลา
·       เขื่อนบางเหนียวดำ จุดชมวิวศาลาแปดเหลี่ยม น้ำตกโตนไอ้เฮ
ม.8 บ้านพอนหัวหาร – บ่อแร่ เป็นพื้นที่ที่ยื่นออกไปในน้ำ มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ บ่อเงิน (น้ำคัน) บ่อทอง (บ่อแร่)
เป็นการรวมหมู่บ้าน 4 ชุมชน คือ  บ้านลิพอน หัวหาร , บ้านแขก, บ้านผุด บ้านบ่อแร่
บ้านหัวหาร มี2 ความเชื่อ คือ เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่ารกมีสัตว์อาศัยอยู่มากโดยเฉพาะเสือ ทำให้ไม่มีใครกล้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่มี 3 ต้นตระกูลมาอาศัยจึงเรียกว่า บ้านหัวหาร
อีกความเชื่อ คือ หนองน้ำในหมู่บ้านเดิมเรียกหนองหาร บริเวณหมู่บ้านจึงเรียกบ้านหัวหาร

บ้านแขก เป็นบริเวณชุมชนมุสลิม
บ้านบ่อแร่ จะมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และมีรูปปั้นพ่อท่านบ่อแร่เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน
บ้านผุด เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีตาน้ำผุดอยู่ทั่วบริเวณ

                              สถานที่สำคํญคือศาลเจ้าสักการะพ่อท่านบ่อแร่


·       

ข้อมูลรายการพาเที่ยวชุมชน DC cable

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตามรอย เมืองเก่า เทศบาลนครภูเก็ต

คนนครภูเก็ต มีสวัสดิการถ้วนหน้า ร่วมพัฒนาสภาองค์กรชุมชน
บนความหลากหลายของวัฒนธรรมประเพณี ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี
โดย สภาองค์กรชุมชน เทศบาลนครภูเก็ต

ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานอีกเมืองหนึ่งของไทย โดยหนึ่งในรอยอดีตอันรุ่งเรืองของภูเก็ตคือตึกเก่าแบบชิโน-โปรตุกีสที่ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2446 เพราะเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ซึ่งมีชาวจีนเข้ามาค้าขายกันมาก และต่อมาชาติตะวันตกได้เดินทางมาค้าขายและแสวงหาอาณานิคมและได้นำรูปแบบศิลปวัฒนธรรมศาสนาเข้ามาเผยแพร่ สถาปัตยกรรมจึงมีลักษณะ ผสมผสานกันระหว่างศิลปะตะวันตกและศิลปะตะวันออก เรียกว่า อาคารแบบโคโลเนียล จากนั้นก็ส่งอิทธิพลไป ตามเมืองท่าต่างๆอย่างสิงคโปร์ และปีนังซึ่งมีสายสัมพันธ์โดยตรงกับภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ตเป็นศูนย์กลางความเจริญและการปกครองของจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันโดย ได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลเมืองภูเก็ตเป็น เทศบาลเมือง ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2478 และได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลนครภูเก็ต เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 มีพื้นที่ 12 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่รับผิดชอบ 2 ตำบล คือ ตำบลตลาดเหนือและตำบลตลาดใหญ่ ประกอบด้วยชุมชน 21 ชุมชน

จากประวัติศาสตร์ไทย ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ ต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศิริธรรมนคร เรียกเกาะภูเก็ตว่า เมืองตะกั่วถลางเป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตรโดยใช้ตราเป็นรูปสุนัข
จนถึงสมัยสุโขทัย เมืองถลางไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ในสมัยอยุธยา ชาวฮอลันดามาสร้างสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรับซื้อแร่ดีบุกจากเมืองภูเก็ต
เมืองภูเก็ตเป็นชื่อที่ทุกคนเพิ่งรู้จัก ในสมัยกรุงธนบุรีเจ้าเมืองภูเก็ตคนแรก คือ เมืองภูเก็จ (เทียน) เพราะก่อนหน้านี้นั้น เมืองภูเก็ตรู้จักในนามเมืองถลาง ซึ่งเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยแร่ดีบุก เกาะภูเก็ตในสมัยกรุงธนบุรีในระยะแรกนั้น คงจะเป็นชุมชนขนาดเล็กอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ทำมาหากินด้วยการค้าแร่ดีบุก ทำนา ทำไร่ ขึ้นอยู่กับเมืองถลาง ต่อมา เจ้าเมืองภูเก็จ (เทียน) ได้รับการเลื่อนยศเป็น พระยาทุกรราช (เทียน) เจ้าเมืองภูเก็ต  ในปี พ.ศ.2332 พระยาทุกรราช (เทียน) ได้เป็นพระยาถลาง ทำให้ตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็ตว่างลง
เมื่อพระยาถลาง (เจิม) ได้เป็นเจ้าเมือง ก็พยายามจะฟื้นฟูเมืองถลางขึ้นมาใหม่ ด้วยเล็งเห็นผลประโยชน์มหาศาลคือ แร่ดีบุกที่เมืองภูเก็ต จึงสนับสนุนให้ลูกชายชื่อ แก้ว ได้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต และต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (แก้ว)พระภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (แก้ว) ตั้งที่ทำการอยู่ที่กะทู้ (บริเวณบ้านเก็ตโฮ่ ในปัจจุบัน) ทำกิจการขุดแร่ดีบุกจนสร้างความร่ำรวยอย่างมหาศาล บริเวณนี้มีลำคลองไหลผ่าน คือคลองบางใหญ่ ลำคลองสายนี้ในอดีตเรือกำปั่นสามารถแล่นเข้า-ออกรับส่งสินค้าดีบุกได้อย่างสะดวก พระภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (แก้ว) มีบุตรชายชื่อ ทัต รับราชการฝ่ายมหาดไทย มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิทักษ์ทวีป ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เป็นพระภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (ทัต) ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เป็นพระยาวิชิตสงคราม (ทัต) 
ในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจการเหมืองแร่ดีบุกได้ขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกมาตามลำน้ำคลองบางใหญ่ ผ่านหมู่บ้านสามกองเข้าสู่บ้านทุ่งคา และย้ายที่ทำการเมืองภูเก็ตมาที่ทุ่งคา ความเจริญได้ย้ายมาสู่บ้านทุ่งคาตั้งแต่บัดนั้นสืบมา  http://phuket99.blogspot.com/
จากที่อดีตพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ตเป็นแหล่งการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองและทันสมัยอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่เหมืองแร่ดีบุกรุ่งเรือง เนื่องจากการทำเหมืองแร่ที่เติบโตทำให้ชาวจีนและชาวตะวันตกต่างหลั่งไหลเข้ามาที่เมืองภูเก็ตเป็นจำนวนมาก สิ่งที่สะดุดตาที่สุดในเขตเทศบาลนครภูเก็ตก็คือตึกเก่าที่ตั้งตระหง่านอยู่ในย่านการค้าเก่าเเก่ของเมือง เป็น อาคารสไตล์ "ชิโนโปรตุกีส" ที่ผสมผสานเอาความเป็นศิลปะตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกันอย่าง กลมกลืน จนเป็นเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นของเมืองภูเก็ต ตึกเก่าเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วตัวเมืองภูเก็ตซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารพื้นเมืองอร่อยมากมายหลากหลายสามารถเลือกซื้อได้อย่างเพลิดเพลิน ซึ่งชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในภูเก็ตได้ทำการอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสนี้ไว้เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการท่องเที่ยว จัดให้มีเส้นทางเดินชมเมืองเก่าภูเก็ตเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความสวยงามของบ้านเรือนเก่าแก่ของภูเก็ตและสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส ที่สวยงาม พร้อมๆกับได้ สัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนภูเก็ตและที่สำคัญอาหารอร่อยเลื่องชื่อการเดิน ชมเมืองเก่า เสน่ห์แห่ง นครภูเก็ตและเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์เมืองถลาง

ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์เมืองถลาง

ประวัติความเป็นมา
ในแผนที่ของคลอดิอุส ปโตเลมี ประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ระบุชื่อศูนย์กลางเกาะภูเก็ตไว้ในชื่อ JUNK CEYLON เมื่อครั้งที่หลวงจีนอี้จิงเดินทางผ่านไปสืบพระพุทธศาสนาเรียกบริเวณนี้เป็น SILAN เปลี่ยนเสียงเป็น สลาง ในสมัยสุโขทัย มีปรากฏในจดหมายเหตุไทย - ฝรั่งเศส เป็น Jun Salon ฝ่ายเอกสารไทยใช้ ฉลาง มาจนถึง สมัยรัชกาลที่ ๓ จึงมีปรากฏคำ ถลาง แทนชื่ออื่นทั้งหมด
ในหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้มีศูนย์กลางปกครองที่เมืองถลาง เจ้าเมืองถลางจะได้รับโปรดเกล้าฯเป็นผู้สำเร็จราชการแปดหัวเมือง (เมืองกระ เมืองคุระ เมืองคุรอด เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง (บางคลี) เมืองกราภูงา เมืองภูเก็จ และเมืองถลาง)
ศูนย์กลางการปกครองเมืองถลางในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อยู่ที่บ้านลิพอน (ตำบลศรีสุนทร)มีพญาถลางคางเสงเป็นเจ้าเมือง ย้ายไปอยู่ที่บ้านดอน (ตำบลเทพกระษัตรี)มีพญาถลางจอมเฒ่าบ้านดอนเป็นเจ้าเมือง และเกาะบ้านเคียน (ตำบลเทพกระษัตรี) ในสมัยกรุงธนบุรี มีพญาถลางจอมรั้งบ้านเคียน พญาถลางอาด พญาถลางชู พญาสุรินทราชาพิมลอัยาขัน เป็นเจ้าเมือง พ.ศ. ๒๓๒๙ มีพญาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง(เทียน ประทีป ณ ถลาง) เป็นเจ้าเมือง ถัดไปเป็นพระยาถลางฤกษ์ (จันทโรจวงศ์) พญาถลางทับ พญาถลางคิน และพญาถลางชู(เจ้าเมืองถลางคนสุดท้าย)
อำเภอถลางในอดีตเป็นเมืองของสองวีรสตรีท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร เดิมเรียกว่า อำเภอเมืองถลาง มีเจ้าเมืองปกครองเรียกว่าพระยาถลาง ได้จัดตั้งเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ. 2441


วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ของดีที่ราไวย์ โดยสภาองค์กรชุมชน ตำบลราไวย์

คนราไวย์มั่นคงในชีวิต เศรษฐกิจดีบนวิถีวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์
ภายใต้การจัดการตนเองของคนในตำบล




                     ตำบลราไวย์เป็นตำบลหนึ่งที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและมีความสำคัญของจังหวัดภูเก็ต เพราะเมื่อเราคิดถึงจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุด คนส่วนใหญ่จะคิดถึงจุดชมวิวแหลมพรมเทพซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สถานที่ที่คนหลายคนทั่วโลกใฝ่ฝันจะต้องมายลแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ยามอัสดงที่สวยงามติดอันดับโลกแห่งนี้สักครั้งในชีวิต นอกจากนี้ตำบลราไวย์ยังมีชายหาดที่สวยงามคือหาดในหาน อ่าวยะห์นุ้ย อ่าวเสน และหาดทรายขาวทอดยาวแหล่งอาหารทะเลสดๆชื่อเสียงเลื่องลือในชื่อชายหาดราไวย์ ที่ใช้เป็นท่าเทียบเรือขนาดเล็กสำหรับเดินทางไปเกาะต่าง ๆ ในตำบล เช่น เกาะเฮ เกาะโหลน เกาะราชา ซึ่งมีจุดดำน้ำที่สวยงามขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำเลยที่เดียว
 ท่ามกลางความเจริญและการเข้ามาของระบบทุนขนาดใหญ่ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายจากชายหาดซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวในอดีตสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม  นอกจากทัศนียภาพที่สวยงามแล้วตำบลราไวย์ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ อันมีประวัติอันยาวนาน จึงเกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามสืบต่อกันมา และคนในตำบลยังมีระบบการเงินของชุมชนที่เข้มแข็งมีกองทุนหมู่บ้านและกองทุนสวัสดิการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีสวัสดิการและเงินทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และที่สำคัญ มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจนเกิดกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนซึ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยคนในชุมชนมีการจัดการตนเองเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน 

ตราบที่ดวงอาทิตย์ยังขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก แหลมพรหมเทพและตำบลราไวย์ก็ยังคงงดงามรอการมาเยือนของผู้คนเสมอ


ประวัติหมู่บ้านชุมชน
ตำบลราไวย์มีหมู่บ้าน        ทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้านต่อไปนี้
หมู่ที่ 1    บ้านในหาน                         หมู่ที่ 5    บ้านบางคณฑี
หมู่ที่ 2    บ้านราไวย์                          หมู่ที่ 6    บ้านแหลมพรหมเทพ
หมู่ที่ 3    บ้านเกาะโหลน                     หมู่ที่ 7    บ้านใสยวน
หมู่ที่ 4    บ้านบางคณฑี

 หมู่ที่  1  บ้านในหาน
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน   
ประวัติของหมู่บ้านมาจากสถานที่ตั้งของชุมชนเป็นป่าไส และเป็นที่ทำรังของผึ้งยวนจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านใสยวน”   ประมาณปี พ.ศ. 2534  ได้แบ่งแยกหมู่บ้าน  หมู่ที่ 1 ตำบลราไวย์   เป็นหมู่ที่ 7  ชื่อบ้านใสยวน
ชุมชนบ้านใสยวน หมู่ที่ 1 ตำบลราไวย์  หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า บ้านในหาน ทั้งนี้พื้นที่ที่แยกมาเป็นหมู่ที่ 1 ตำบลราไวย์ นั้น อยู่ติดกับทะเล  หาดในหาน  ซึ่งเป็นหาดที่สวยงามและสงบเงียบ    ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนที่หาดแห่งนี้   บุคคลภายนอกหมู่บ้านก็นิยมเรียกชื่อ บ้านในหาน
ของดีบ้านในหาน คือ หาดในหาน หนองน้ำในหาน วัดในหาน อ่าวเสน

หมู่ที่ 2 บ้านราไวย์
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน    
                         นายจำเริญ  มุขดี  อดีตผู้ใหญ่บ้านหาดราไวย์  เล่าว่า นายล้อม วงศ์จันทร์   ชาวบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ หาดราไวย์  เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2430   ได้แต่งงานสร้างบ้านเรือนเป็นหลักฐานมั่นคง   ด้วยความขยันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จึงเป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้านในละแวกหมู่บ้าน  จึงได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองในสมัยนั้น ให้เป็นนายพัน  ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนัน  โดยเรียกกันติดปากว่า  กำนันล้อม  ถือได้ว่าเป็นกำนันคนแรกของตำบลราไวย์  ต่อมาญาติพี่น้องก็อพยพมาอยู่ด้วย  ชื่อ นายเอี่ยม  ประจันทบุตร  ซึ่งเป็นหมอแผนโบราณ  หลวงอนุภาษภูเก็ตการ  ซึ่งมาจากเมืองจีน  มีชาวเลพวกพลัดหรือพวกสิงห์จากเกาะบริเวณใกล้เคียงหาดราไวย์   มาขออยู่อาศัยด้วย กำนันล้อมได้แบ่งที่ดินทำกินให้ตามส่วน  ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ได้เข้ามาตั้งรกรากกลุ่มแรกในหมู่บ้านหาดราไวย์
ของดีบ้านราไวย์คือ ชายหาดราไวย์ แหลมกา วัดราไวย์ วัฒนธรรมชาวเล(ชาวไทยใหม่) อาหารทะเลสดๆ สะพานเทียบเรือ

 หมู่ที่ 3 บ้านเกาะโหลน
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
                       ในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีก่อน  ได้มีชาวบ้านจาก จังหวัดสตูล ชื่อ โต๊ะนางู้  เดินทางมาตั้งบ้านเรือนอยู่บนเกาะโหลน  ซึ่งมีสภาพเป็นป่า  ต่อมาคนภายนอกเห็นว่ามีคนอยู่ก็พากันอพยพไปอยู่ด้วยหลายครัวเรือน   บ้านเกาะโหลนจัดตั้งเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ 2480  มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อนายดล  สองเมือง   มีประชากร  33 ครัวเรือน  และที่เรียกว่าบ้านเกาะโหลน  ผู้นำชุมชนเล่าว่าพอถึงฤดูทำนาชาวบ้านใกล้เคียงกลัวว่าควายที่เลี้ยงไว้จะกินข้าวในนา  ก็พาควายที่เลี้ยงไว้กรรเชียงเรือ  จูงควายว่ายน้ำมาปล่อยไว้ที่เกาะโหลน  พอหมดฤดูทำนาเจ้าของควายก็จะมาพาควายกลับแต่มีควายที่หลุดเชือก เป็นควายเถื่อนอยู่ที่เกาะโหลน   ควายเถื่อนพวกนี้ก็จะพากันกินหญ้า กินต้นไม้บนเกาะทำให้โหลนเตียน  จึงได้เรียกว่า บ้านเกาะโหลน
ของดี เกาะโหลน คือ วัฒนธรรมวิถีความเป็นอยู่แบบพื้นถิ่น แหล่งท่องเที่ยวบ้านเกาะโหลน กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ อาหารทะเลสดๆรสชาติอร่อย การใช้พลังงานแสงอาทิตย์

 หมู่ที่ 4 บ้านบางคณฑี
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน    
                         เมื่อ  100  กว่าปีก่อน  ได้มีชาวมุสลิมจากจังหวัดสตูล  เดินทางอพยพมาอยู่ที่บ้านบางคณฑี   ได้ตั้งถิ่นฐานมีครอบครัว  มีญาติพี่น้องเดินทางมาอาศัยอยู่ด้วย  และได้ขยายเผาพันธุ์มากขึ้น  จนปัจจุบันมีสภาพเป็นชุมชน
                       ประวัติความเป็นมาของชื่อ บ้านบางคณฑี  มาจากหลายแหล่ง  สรุปได้  ดังนี้
                         บ้านบางคณฑี  สภาพหมู่บ้าน มีบาง  มีคลองเยอะ เวลามีเรือผ่านไป-มา  ก็จะพักจอดเพื่อตักน้ำกิน-น้ำใช้  เมื่อก่อนในหมู่บ้านมีคนอยู่น้อย  ร้านค้าในหมู่บ้านก็จะเปิดได้เพียง  1  แห่ง  ถ้าเปิดหลายแห่งก็จะขายไม่ได้   เพราะฉะนั้นถ้าร้านหนึ่งเปิด  อีกร้านหนึ่งก็ต้องปิด
                     บางก็เล่าว่า  บ้านบางคณฑี  เมื่อก่อนคนในหมู่บ้าน  มีนิสัยนักเลง อันธพาล  ถ้ามีใครพลัดถิ่น  ไม่มีเครือญาติในหมู่บ้าน  เดินทางเข้าไปในหมู่บ้านก็จะถูกพวกนักเลง อันธพาล  ก่อกวน  เล่นงาน  คนละทีจนไม่สามารถอยู่ได้  ต้องอพยพออกไปจากหมู่บ้าน
ของดีบ้านบางคณฑี ผ้าบาติก โฮมสเตย์ มุสลิมสบา แหล่งที่พักและที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมผสมผสานไทยพุทธ มุสลิมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 หมู่ที่  5  บ้านบางคณฑี  (ห้าแยก)
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
       บ้านห้าแยก  หมู่ที่  5  ตำบลราไวย์   ได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านมานาน ประมาณมากกว่า  100 ปี     พื้นที่หมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณวงเวียนห้าแยก   จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามสถานที่ตั้ง  คือ  “บ้านห้าแยก” 
ของดี ห้าแยก-บางคณฑี การเลี้ยงกุ้งก้าวกามแดงในกระบอกม การเลี้ยงไส้เดือน

  หมู่ที่ 6 บ้านแหลมพรหมเทพ
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน                                         
      บ้านพรหมเทพ  ได้แยกออกมาจาก  หมู่ที่ 2 ตำบลราไวย์  เมื่อปี  พ.ศ. 2516  มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก  นายสนิท  หยดย้อย  เดิมเป็นพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์   ได้สงวนไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.  2479  หลังสงครามโคกครั้งที่ 2  ปี พ.ศ. 2487  ข้าวยาก หมากแพง  จึงได้ให้ชาวบ้านมาทำไร่  ปลูกข้าว
      ปี พ.ศ. 2519 นายอำเภอชิต ธรรมประวัตได้มีการพัฒนาตัดทางขึ้นแหลมพรหมเทพโดยใช้งบ   อบจ.  ชาวบ้านได้อพยพขึ้นไปอยู่บนแหลม  ลักษณะพื้นที่ยื่นออกไปในทะเลเดิมเรียก แหลมคอจ้าว”  และมีหาดในพื้นที่  คือ  หาดพรหมเทพนุ้ย,  หาดพรหมเทพใหญ่  จึงใช้ชื่อหมู่บ้าน   “บ้านแหลมพรหมเทพ
ของดีบ้านแหลมพรมเทพ คือ จุดชมวิวพระอาทิตย์ตก แหลมพรมเทพ  อ่าวยะห์นุ้ย พลังงานลม

หมู่ที่ 7 บ้านใสยวน
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
     ชุมชนบ้านใสยวน เป็นชุมชนมุสลิม  เดิมชุมชนบ้านใสยวนรวมอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบล ราไวย์ ได้แบ่งหมู่บ้านเป็นหมู่ที่ 7 ตำบลราไวย์ เมื่อปี พ.ศ. 2534
      ประวัติชื่อของหมู่บ้าน มาจากสถานที่ตั้งของชุมชนเป็นป่าใส และเป็นที่ทำรังของผึ้งยวน จึงตั้งชื่อชุมชนว่า  “ บ้านใสยวน”  ชาวบ้านในชุมชนอยู่กันแบบเครือญาติ เดิมประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวนมะพร้าว และเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันชุมชนบ้านใสยวนได้ขยายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ธุรกิจบ้านเช่า ทำให้มีคนจากภายนอกเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น
     สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ประกอบกับคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนอาชีพจาเกษตรกรรมมาเป็นขายแรงงาน รับจ้าง ค้าขาย รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจบ้านเช่า บ้านจัดสรร
ของดีบ้านใสยวน คือ แหล่งเรียนรู้ศรษฐกิจพอเพียงด้านการปลูกผัก, ฝายน้ำล้น,การทำเครื่องแกง, อสม., ผาหินดำ, มีการรีไซเคิลขยะ, มัสยิดไสยวน ตัวอย่างการอยู่ร่วมกันในรูปแบบความหลากหลายทางวัฒนธรรมนานาชาติศาสนา